การรับประทานอาหารแบบคีโตไดเอท คืออะไร สามารถลดน้ำหนักและไขมันได้จริงหรือไม่ ใครบ้างที่สามารถรับประทานอาหารแบบคีโตไดเอทได้
บทความนี้ใช้เวลาอ่าน 1.45 นาที
Keto-Diet
ความต้องการมีรูปร่างที่สวยงาม ดูดี ไม่อ้วน เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ปรารถนามาโดยตลอด นั่นจึงทำให้มีการคิดหาวิธีลดน้ำหนักใหม่ๆ อยู่เสมอ หนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมคือ “การรับประทานอาหารแบบคีโตไดเอท” หรือ “คีโต”
รู้จักคีโตไดเอท
ในระยะแรกของการรับประทานอาหารแบบคีโตไดเอท หรือคีโตเจนิคไดเอท เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1920 โดยเกิดจากการจำลองภาวะอดอาหาร มีจุดประสงค์เพื่อรักษาโรคลมชักในเด็กอย่างรุนแรง
การรับประทานอาหารแบบคีโตจะทำให้เกิด “ภาวะคีโตซิส” หรือ ภาวะที่ร่างกายไม่มีพลังงานจากน้ำตาลกลูโคส จนต้องไปดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทน นั่นทำให้ตับผลิตสารคีโตนขึ้นมา ซึ่งก็จะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานของร่างกายด้วยเช่นกัน
ภาพรวมของการรับประทานอาหารแบบคีโตไดเอทคือ การรับประทานอาหารที่มีไขมันคุณภาพดีสูง ตามด้วยโปรตีน โดยจะต้องตัดคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลให้อยู่ในปริมาณต่ำสุด บางคนอาจจะจำกัดคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลไว้เพียง 15-20 กรัมต่อวัน
อาหารที่คีโตไดเอทสามารถรับประทานได้
- ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันอะโวคาโด
- ไขมันจากสัตว์ เช่น เนื้อติดมัน เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์แปรรูปที่ไม่ผสมแป้ง ไข่ อาหารทะเล
- ผักใบเขียว สามารถรับประทานผักใบเขียวได้ทุกชนิด แต่ควรหลีกเลี่ยงพืชหัวที่มีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตเยอะ เช่น เผือก มัน
- นม ต้องเป็นนมพร่องมันเนยที่มีไขมันต่ำ หรือผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ครีม ครีมชีส ชีส (มาการีนไม่สามารถรับประทานได้)
- พืชตระกูลถั่ว ควรรับประทานเฉพาะถั่วเมล็ดเดี่ยว เช่น วอลนัล แมคคาเดเมีย อัลมอนต์
อาหารที่ต้องหลีกเลี่ยงระหว่างที่ทำคีโตไดเอท
อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูง เช่น ผลไม้บางชนิด ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว เครื่องดื่มผสมน้ำตาลต่างๆ รวมถึงอาหารแปรรูปที่มีส่วนผสมของแป้ง เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น
ผลที่ได้รับจากคีโตไดเอท
การลดน้ำหนักแบบคีโตไดเอท เป็นการลดคาร์โบไฮเดรตเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญไขมันส่วนเกินโดยนำไขมันมาใช้เป็นพลังงาน ผลลัพธ์ที่ได้จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่อาจส่งผลกระทบระยะยาว
ข้อดี: ทำให้น้ำหนักและไขมันส่วนเกินลดลง เพราะไขมันที่สะสมไว้ถูกนำไปเผาผลาญ ขณะเดียวกันร่างกายก็รับพลังงานเข้ามาน้อยลงด้วย สามารถรักษาระดับมวลกล้ามเนื้อไว้ได้ หรือสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในระดับที่น้อย
ข้อเสีย:พฤติกรรมการรับประทานแบบคีโตไดเอทอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลและมีปัญหาในภายหลัง เพราะเราไม่สามารถรับประทานแบบนี้ได้ตลอดตลอดชีวิต เนื่องจากเหตุผลต่อไปนี้
- ระยะแรก ระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่ายอาจผิดปกติเพราะร่างกายได้รับกากใยอาหารน้อยเกินไป
- ระยะยาว อาจเป็นโรคขาดสารอาหารได้ รวมถึงอาจทำให้อวัยวะภายในทำงานผิดปกติ เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่ครบหมู่ตามหลักโภชนาการ
คีโตไดเอทเหมาะและไม่เหมาะกับใคร
การลดน้ำหนักด้วยวิธีการคีโตไดเอทเหมาะสำหรับผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ และไม่ต้องทำงานที่ใช้พลังงานมาก เนื่องจากในระยะแรกอาจทำให้เกิดการอ่อนเพลีย รวมถึงเกิดภาวะบางอย่างขึ้นจากการปรับตัวของร่างกาย
ใครที่ไม่สามารถทำคีโตไดเอทได้
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือบุคคลในครอบครัวมีปัญหาเกี่ยวกับตับและไตมาก่อน
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะอาจจะต้องปรับเรื่องยาเบาหวานที่กำลังรับประทานอยู่
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด กรดไหลย้อน ลำไส้บีบตัวไม่ดี
- ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ
- ผู้ที่ต้องทำงานหนักและออกแรงเป็นประจำ
แม้คีโตไดเอทจะมีประโยชน์แต่ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ดังนั้นหากต้องการลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย ไม่มีข้อกังวลใดๆ แนะนำให้เริ่มจากปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น ไม่รับประทานจุบจิบ อย่าอดมื้อเช้า หลีกเลี่ยงของมัน ของทอด ของหวาน รับประทานผักและผลไม้สดให้มาก
ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น เข้านอนไม่ดึกมาก พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถควบคุมน้ำหนักได้อย่างปลอดภัย
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
- คีโตไดเอทคือ การรับประทานอาหารที่มีไขมันคุณภาพดีสูง โปรตีน แต่จะรับประทานคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลในปริมาณต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้
- คีโตไดเอทจะทำให้เกิดภาวะคีโตซิสขึ้นคือ ร่างกายจะไปดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทนพลังงานจากน้ำตาลกลูโคส ทำให้ตับผลิตสารคีโตนขึ้นมานำไปใช้เป็นพลังงานของร่างกายด้วย
- อาหารที่สามารถรับประทานในคีโตไดเอทได้ ได้แก่ ไขมันดีจากพืชและสัตว์ ผักใบเขียว นม และพืชตระกูลถั่ว
- ผลที่ได้จากการทำคีโตไดเอทคือ น้ำหนักและไขมันส่วนเกินลดลงเพราะไขมันที่สะสมไว้ถูกนำไปเผาผลาญ แต่อาจมีข้อเสียเรื่องระบบขับถ่ายและการขาดสารอาหารในระยะยาว
- คีโตไดเอทเหมาะสำหรับผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ และไม่ต้องทำงานที่ใช้พลังงานมาก
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบประโยชน์ต่างๆของวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ แต่ไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้